top of page
Banner-AAVM1.png

เส้นทางสู่การเป็นพลเมืองถาวรออสเตรเลีย

อัปเดตเมื่อ 2 ม.ค. 2565

จากกระแสย้ายประเทศ ทำให้มีคนสนใจวีซ่าถาวรออสเตรเลียกันมากขึ้น แล้วจะมีวิธีไหนที่จะทำให้เราได้ถือวีซ่าถาวรได้บ้าง


การขอวีซ่าถาวรในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามคุณสมบัติที่แตกต่างกัน คือวีซ่าครอบครัว, วีซ่าทำงาน, และวีซ่าธุรกิจ


วีซ่าครอบครัว


เริ่มจากวีซ่าสำหรับคู่ครอง ทั้งประเภทจดทะเบียนแต่งงานกัน หรืออยู่กินกันฉันท์สามีภรรยากับผู้ที่เป็นพลเมืองถาวรหรือถือสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งรวมไปถึงคู่ครองเพศเดียวกัน วีซ่านี้มีสองขั้นตอน คือจะต้องถือวีซ่าชั่วคราวไปก่อนสองปีจึงจะสามารถขอวีซ่าถาวรได้หากความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยานั้นยังคงดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ


เส้นทางสู่วีซ่าคู่ครองอาจจะเริ่มมาจากวีซ่าคู่หมั้นก็ได้ วีซ่าคู่หมั้นนั้นเป็นวีซ่าที่ต้องขอจากนอกประเทศออสเตรเลียเท่านั้นและมีอายุเพียง 9 เดือน เพื่อให้คู่รักได้มาเรียนรู้กันและกันก่อนที่จะตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตร่วมกันที่ออสเตรเลีย ดังนั้น ผู้ที่ถือวีซ่านี้จะต้องจดทะเบียนสมรสและยื่นขอวีซ่าแต่งงานก่อนที่วีซ่าคู่หมั้นจะหมดเพื่ออยู่ที่ออสเตรเลียต่อไปตามลำดับ


ส่วนใครที่มีลูก ลูกบุญธรรม หรือหลานกำพร้าในการดูแลวัยไม่เกิน 18 ปี ก็สามารถพาไปอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียเป็นก็ถาวรได้เช่นกัน


หากต้องการพาพ่อแม่ไปอาศัยที่ออสเตรเลีย ก็มีวีซ่าสำหรับพ่อแม่หลายประเภท ทั้งแบบทั่วไป แบบเสียเงินเพิ่ม(ได้วีซ่าเร็วกว่า) และวีซ่าสำหรับพ่อแม่ที่สูงวัย


วีซ่าทำงาน


การขอวีซ่าถาวรเพื่อการทำงานมีหลายเส้นทาง มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและองค์ประกอบหลายๆอย่าง บางวีซ่าผู้สมัครจะต้องมีอาชีพอยู่ในรายการอาชีพขาดแคลนของออสเตรเลีย (https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/working-in-australia/skill-occupation-list)


แบบไม่มีสปอนเซอร์

  • Skilled-Independent Visa สำหรับผู้ที่มีคะแนน Point test อย่างน้อย 60 คะแนน ซึ่งคะแนนนี้มาจากความรู้ความสามารถ ประสบการณ์การทำงาน และอื่นๆ วีซ่านี้เป็นวีซ่าถาวรที่มีข้อกำหนดน้อยมาก เมื่อได้วีซ่าแล้วจะสามารถทำงานได้เต็มเวลาไม่ว่าจะตรงตามอาชีพที่ขอวีซ่าหรือไม่ก็ตาม

แบบต้องมีสปอนเซอร์

  • Skilled-Nominated Visa เป็นวีซ่าถาวรที่มีรัฐเป็นสปอนเซอร์ มีข้อจำกัดคือจะต้องอาศัยและทำงานอยู่ในรัฐนั้นเป็นระยะเวลาตามแต่ละรัฐจะกำหนด หลังจากนั้นจึงจะสามารถย้ายไปพำนักหรือทำงานที่รัฐอื่นได้

  • Skilled-Regional Visa เป็นวีซ่าสำหรับผู้ที่มีรัฐหรือญาติเป็นสปอนเซอร์ มีสองขั้นตอน โดยขั้นแรกจะเป็นวีซ่าชั่วคราวที่ผู้ถือวีซ่าจะต้องพำนักอยู่ในเขตภูมิภาคนั้นๆเป็นเวลาอย่างน้อยสองปีจึงจะสามารถขอวีซ่าถาวรได้

  • วีซ่าถาวรจากการจ้างงาน โดยมีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์

    • Temporary Skill Shortage (TSS) visa (subclass 482) → Employer Nomination Scheme Visa เส้นทางนี้ค่อนข้างที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นพลเมืองถาวรของออสเตรเลีย เริ่มจากนายจ้างจ้างทำงานเป็นเวลา 4 ปีในขณะที่ถือวีซ่าทำงานชั่วคราว 482 จากนั้นเมื่อทำงานครบสามปีแล้ว นายจ้างสปอนเซอร์วีซ่าถาวรให้ได้

    • Employer Nomination Scheme Visa (Direct Entry stream) นายจ้างสปอนเซอร์วีซ่าทำงานถาวรให้เลย

    • Regional Sponsored Migration Scheme Visa (RSMS) วีซ่าถาวรที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์อีกประเภทหนึ่งสำหรับการทำงานในเขตภูมิภาค โดยผู้ที่ถือวีซ่านี้จะต้องทำงานกับนายจ้างเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี มิฉะนั้นจะถูกยกเลิกวีซ่าได้

วีซ่าธุรกิจ


ผู้ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจและมีเงินลงทุน อาจจะสามารถขอวีซ่าชั่วคราว Business Innovation and Investment visa เพื่อลงทุนเปิดธุรกิจในออสเตรเลียได้ และหากธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีก็จะสามารถขอวีซ่าถาวรได้ในที่สุด


วีซ่าชั่วคราว 485


ส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่วีซ่าถาวรที่หลายๆคนใช้หลังจากเรียนจบจากสถานบันการศึกษาในออสเตรเลียแล้วคือการขอวีซ่า Temporary Graduate Visa (485) เพื่อทำงานในออสเตรเลียสร้างเสริมประสบการณ์การทำงานได้อีกอย่างน้อย 2 ปี เพราะอาจช่วยให้ทำคะแนน Point test ได้ครบ 60 คะแนนได้หรือมีโอกาสหานายจ้างเพื่อเป็นสปอนเซอร์ขอวีซ่าทำงานประเภทต่างๆได้


 

เริ่มต้นอย่างไร

มีหลายเส้นทางที่อาจจะเลือกได้ เช่น

  • สมัครงานจากเมืองไทย เพราะวีซ่าทำงานทั้งหลายสามารถยื่นขอจากไทยได้ เว็บไซต์หางานที่มีงานที่นายจ้างต้องการสปอนเซอร์วีซ่าให้ มักจะหาได้จาก https://jobsearch.gov.au

  • เรียนต่อที่ออสเตรเลียในสาขาที่ขาดแคลน แต่ต้องคอยลุ้นว่าอาชีพที่เราคาดหวังไว้จะไม่ถูกตัดออกจากรายการเสียก่อนที่เราจะได้ยื่นขอวีซ่าถาวร เช่น วีซ่านักเรียน → PR วีซ่านักเรียน → 485 → PR วีซ่านักเรียน → 482 → PR

  • เส้นทางที่เหมือนจะสั้นกว่า แต่ใช้เวลานานมาก วีซ่านักเรียน → วีซ่าแต่งงาน


อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่วีซ่าถาวรไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้ บางครั้ง จังหวะและเวลาก็มีส่วนสำคัญเพียงแต่อย่าหยุดมองหาโอกาสดีๆให้ตัวเองนะคะ



コメント


コメント機能がオフになっています。
bottom of page